
การสอนหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
เครือข่ายโรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานี
โสพรรณ เรืองเจริญ
ภาวะคลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ทุกคนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะนอกจากจะส่งผลต่อภาวะสุขภาพของทารก ยังส่งผลต่อพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูทั้งด้านเศรษฐกิจและภาวะจิตใจ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งความกดดันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตใจล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การตั้งครรภ์นั้นเสี่ยงต่อภาวะคลอดก่อนกำหนด การปฏิบัติตัวที่เหมาะสมของแม่ รวมทั้งการสนับสนุนของพ่อ ครอบครัวและสังคม จะช่วยป้องกัน และสามารถลดอุบัติการณ์ของภาวะคลอดก่อนกำหนดในพื้นที่ให้ลดต่ำลง
บริบทของอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
ในเขตอำเภอหนองหาน ซึ่งมีประชากรประมาณ 110,000 คน มีการคลอดเกิดขึ้นปีละ ประมาณ 1,000 ราย มีเครือข่ายการดูแลแม่และเด็กตั้งแต่ระดับอำเภอถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) และชุมชน มีการสื่อสารแนวคิด ติดตาม ควบคุมกำกับเครือข่ายจัดการทำงานผ่านระบบการประชุมผู้ปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอผ่านสื่ออิเลคทรอนิคส์ และโทรศัพท์มือถือ มีเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นแนวทางเดียวกันทั้งจังหวัด เพื่อจัดอันดับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่ำจะได้รับการดูแลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) ส่งพบแพทย์ตามแนวทางการดูแลมีระบบการส่งต่อเมื่อพบภาวะเสี่ยง ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับการดูแล โดยสูติแพทย์ที่คลินิกครรภ์เสี่ยงสูงในโรงพยาบาลชุมชนทำให้มีการแบ่งระดับการให้ความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์ตามความเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์จะได้รับความรู้ผ่านกระบวนการโรงเรียนพ่อแม่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์สุขภาพชุมชน ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับความรู้เพิ่มเติมผ่านกระบวนการโรงเรียนพ่อแม่ที่คลินิกครรภ์เสี่ยงสูงในโรงพยาบาลชุมชน
ความสำคัญของปัญหา
ในเขตอำเภอหนองหาน จากฐานข้อมูลการคลอดซึ่งมีประมาณปีละ 1,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก (very low risk) ร้อยละ 55 ความเสี่ยงต่ำ (low risk) ร้อยละ 28 ความเสี่ยงสูง (high risk) ร้อยละ 13 ความเสี่ยงสูงมาก (very high risk) ร้อยละ 4 พบภาวะคลอดก่อนกำหนดปี พ.ศ. 2555-2557 ร้อยละ 7.64, 8.98 และ 9.22 ตามลำดับ
หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดเป็นกลุ่มแม่ที่มีความเสี่ยงสูงร้อยละ 20 และเป็นกลุ่มแม่ที่ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ร้อยละ 80 ประวัติที่ต้องเฝ้าระวัง คือ รายที่มีประวัติเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือเคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด
เมื่อให้ความสำคัญ และมีการจัดการเรียนรู้ให้กับหญิงตั้งครรภ์ สามี และครอบครัว ทำให้สามารถปฏิบัติตัวสังเกตอาการของการคลอดก่อนกำหนด สามารถมาพบเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาล เมื่อปากมดลูกเปิดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 เซนติเมตร ร้อยละ 82.98, 96.43 และ 100 และสามารถยับยั้งภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดสำเร็จ ในปี พ.ศ.2555-2557 ร้อยละ 89.37, 93.62 และ 94.90 ตามลำดับ
คำนิยาม
- คลอดก่อนกำหนด หมายถึง การคลอดที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์
- การสอนหญิงตั้งครรภ์ หมายถึง การจัดการเรียนรู้ให้หญิงตั้งครรภ์รายบุคคล และรายกลุ่มผ่านกระบวนการโรงเรียนพ่อแม่ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของสามีและครอบครัว
การสอนหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด
แนวคิด
- สร้างความตระหนักต่อเจ้าหน้าที่
- หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด
- หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงในทุกเรื่อง รวมทั้งความเครียดด้านจิตใจและสังคมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นการดูแลตามมาตรฐานของความเสี่ยงแต่ละชนิด จะช่วยลดภาวะคลอดก่อนกำหนด - การสอนหญิงตั้งครรภ์ต้องทำในรูปเครือข่ายที่เชื่อมโยงเป็นแนวทางเดียวกันทั้งระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์สุขภาพชุมชน และคลินิกครรภ์เสี่ยงสูง โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลจังหวัด/โรงพยาบาลศูนย์ โดยการสอนเป็นกลุ่ม และการสอนแบบรายกรณี (case management) ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง
วัตถุประสงค์
เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์และครอบครัวได้รับทราบถึงความสำคัญของภาวะคลอดก่อนกำหนด การสังเกตอาการเริ่มต้นของภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด การดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และวิธีปฏิบัติตนเมื่อมีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
วิธีดำเนินการ
- ปรับแนวคิดของเจ้าหน้าที่ผ่านการประชุมวิชาการ และการประชุมประจำเดือน
- ความสำคัญของภาวะคลอดก่อนกำหนด
- หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมทุกชนิด ความเครียด ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด - โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์สุขภาพชุมชน และคลินิกครรภ์เสี่ยงสูงของโรงพยาบาลชุมชน จัดทำการประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย และรวบรวมเป็นองค์ความรู้ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
- จัดกิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่ให้หญิงตั้งครรภ์รายใหม่ทุกราย ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์สุขภาพชุมชน และในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนที่คลินิกครรภ์เสี่ยงสูง โรงพยาบาลชุมชน
- จัดทำแผนการสอน
การสอนหญิงตั้งครรภ์และครอบครัวมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้ทราบถึงความสำคัญ การเฝ้าสังเกตอาการและดูแลตนเองได้ถูกต้อง เพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนดใช้ระยะเวลา 1 ชั่วโมง แบ่งเป็น 6 ช่วงๆ ละ 10 นาที สรุปพอเป็นสังเขป ดังนี้
4.1 ความสำคัญของภาวะคลอดก่อนกำหนด
4.2 คำจำกัดความของการคลอดครบกำหนด และคลอดก่อนกำหนด
4.3 ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะคลอดก่อนกำหนด
4.4 การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด
4.5 การประเมินการบีบรัดตัวของมดลูกและการเฝ้าระวังอาการคลอดก่อนกำหนด
4.6 การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการเจ็บครรภ์คลอด
สรุปผลการดำเนินการ
การสอนหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคนควรให้ความสำคัญ มีการดำเนินงานเป็นเครือข่ายที่มีความเชื่อมโยงกันในทุกระดับของสถานบริการสาธารณสุข โดยเริ่มจากแนวความคิดของความสำคัญของภาวะคลอดก่อนกำหนด หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมีโอกาสที่คลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะรายที่มีความเสี่ยงจากทั้งภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ภาวะเครียดด้านจิตใจ ภาวะกดดันด้านเศรษฐกิจและสังคม ควรให้ความรู้ต่อหญิงตั้งครรภ์ สามี และครอบครัว เพื่อการมีส่วนร่วมในการลดปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะคลอดก่อนกำหนด